วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

1.กล่าวนำเรื่องเรือลูสิเตเนีย


เรือลูสิเตเนีย
Lusitania


เรือลูสิเตเนีย (Lusitania) เป็นเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่(Ocean liner) ของบริษัทคิวนาร์ด(Cunard) ที่มีชื่อว่า ลูสิเตเนีย นั้นก็เพราะเป็นการตั้งตามชื่อของจังหวัดลูสิเตเนียของอาณาจักโรมันในสมัยโบราณ ซึ่งจังหวัดนี้ปัจจุบันก็คือที่ตั้งของประเทศโปรตุเกสนั่นเอง


เรือลูสิเตเนีย ถูกยิงด้วยอาวุธตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำเยอรมัน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1915 และได้จมลงในอีก 28 นาทีต่อมา นอกฝั่งของแหลมโอลด์ เฮด กินเซล (Old Head Kinsale) เกาะไอร์แลนด์ ทำให้ผู้คนพลเรือน รวมทั้งผู้หญิงและเด็กเสียชีวิตมากถึง 1,198 คน จากผู้โดยสารและลูกเรือซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,959 คน


การจมของเรือลูสิเตเนียครั้งนี้ ทำให้มติมหาชนของประเทศต่างๆหลายประเทศต่อต้านเยอรมนีอย่างรุนแรงและยังส่งผลให้สหรัฐอเมริกาซึ่งก่อนหน้านี้ประกาศตนเป็นกลางเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1


2.ลักษณะเฉพาะของเรือลูสิเตเนีย



เรือลุสิเตเนีย ออกจากนครนิวยอร์ก

เรือลูสิเตเนีย ถูกปล่อยลงน้ำที่เมืองไคลด์แบงค์เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ.1906  ยาว 785 ฟุต กว้าง 88 ฟุต ระวางขับน้ำประมาณ 40,000 ตัน สามารถจุผู้โดยสารได้ 2,800 คน เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2456 ได้เดินอย่างเร็วที่สุด คือ 618 น็อต ภายใน 24 ชั่วโมง

3.สาเหตุการจมของเรือลูสิเตเนีย



ห้องรับประทานอาหาร
ในเรือลูสิเตเนีย

หนังสือพิมพ์ไทมส์ สรุปเหตุการณ์อันเนื่องจากการจมของเรือลูสิเตเนีย ดังต่อไปนี้

เรือใหญ่ลำหนึ่งของบริษัทคิวนาร์ด ชื่อลูสิเตเนีย ได้ถูกเรือดำน้ำเยอรมันลำหนึ่ง(U-boat U-20) ยิงตอร์ปิโดเข้าใส่ที่ใกล้แหลมโอลด์  เฮด ออฟ กินเซล  ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของท่าเรือควีนสเตาน์  เมื่อบ่ายวันศุกร์(วันที่ 7 พฤษภาคม)และจมลง  ก่อนจมไม่ได้มีบอกกล่าวแจ้งเตือนใดๆ และเรือนั้นได้ถูกตอร์ปิโด 2 ลูก เรือลูสิเตเลียจมภายใน 18 หรือ 20 นาทีภายหลังที่ถูกตอร์ปิโด การร้องกรีดกราดไม่มีมีแต่เสียงร้องอันยาวนาน, แสดงความทุกข์เวทนา, หมดความหวัง และร้องให้ช่วยปรากฏว่าผู้โดยสารและลูกเรือโดยมากได้จมไปกับเรือ มีบางคน เช่นผู้บังคับการเรือเป็นต้น ได้ลอยพ้นจากเรือไป และเรือช่วย ซึ่งได้ไปถึงที่เกิดเหตุ 2 ถึง 3 ชั่วโมงต่อมานั้นได้ช่วยไว้ได้

4.ความสูญเสียชีวิตของผู้โดยสารและลูกเรือเรือลูสิเตเนีย


บุคคลสำคัญที่โดยสาร
เรือลูสิเตเนีย
บริษัทคิวนาร์ดแจ้งว่า ผู้โดยสารที่มากับเรือลูสิเตเนีย มีจำนวนทั้งสิ้นดังนี้
ชั้นที่ 1      =292   คน
ชั้นที่ 2     =602  คน
ชั้นที่ 3      =361 คน
รวม          =1,255 คน
เมื่อบวกจำนวนคนประจำเรืออีก 651 คนเข้าไปแล้ว ก็รวมเป็นจำนวนคน 1,906 คน
ผู้ที่รอดตายมาได้มีจำนวน 772 คน จึงสรุปได้ว่า ผู้ที่ตายมีจำนวน 1,134 คน ผู้โดยสารโดยมากเป็นคนสัญชาติอังกฤษและอเมริกัน

5.ผู้โดยสารที่มีชื่อเสียงที่เสียชีวิตในเรือลูสิเตเนีย


ห้องนั่งเล่นใน
เรือลูสิเตเนีย






ห้องสูบบุหรี่ใน
เรือลูสิเตเนีย

ในหมู่ผู้โดยสารมีผู้มีชื่อเสียงอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น
-นาย เอ.จี.แวนเดอร์บิลล์ (มหาเศรษฐีอเมริกัน) เป็นผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นผู้ชอบเล่นรถม้า
-นายชาร์ลส์ โฟร์แมน(สัญชาติอเมริกัน) ผู้จัดการละคร
-นาย เอ.แอล.ฮอปกินส์ ประธานบริษัทต่อเรือและอู่นิวปอร์ตนิว
-นายแพทย์ เอฟ.เอส. เปียร์สัน(สัญชาติอังกฤษ)
-นาย เจ.ฟอสเตอร์ สแตกเฮาส์(สัญชาติอังกฤษ)
-นาย นาย เอ.ดี. โธมัส อดีตสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ เป็นเจ้าของบ่อถ่านหินในเมืองเวลส์
-เซอร์ฮิว เลน  เศรษฐีชาวอังกฤษ
-เลดี แอลแลน ภรรยาผู้มีบรรดาศักดิ์อังกฤษ
ผู้มีชื่อเหล่านี้ได้จมน้ำไปหมด ยกเว้นนายโธมัส และ เลดี แอลแลน

6.คำบอกเล่าของผู้รอดชีวิตจากการจมของเรือลูสิเตเนีย



ห้องขายเครื่องดื่มใน
เรือลูสิเตเนีย
จากการบอกเล่าของผู้รอดชีวิต บอกว่า อากาศเวลานั้นแจ่มใสดีมาก  ไม่มีใครนึกว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นมาได้  แม้ว่าจะเคยได้ยินคำขู่ของฝ่ายเยอรมันเมื่อตอนที่เรือลุสิเตเนียจะออกจากนิวยอร์กก็ตาม โดยฝ่ายเยอรมันได้กระทำความพยายามที่จะขมขู่ชาวอเมริกันผู้ที่ได้ซื้อตั๋วโดยสารไว้แล้วให้งดการโดยสารเสีย สถานทูตเยอรมันในสหรัฐอเมริกาได้ลงประกาศในหนังสือพิมพ์อเมริกันหลายฉบับ แจ้งให้คนอเมริกันทราบว่าอย่าลงเรืออังกฤษเพราะเรือเหล่านั้นอาจจะถูกทำลายในน่านน้ำที่ใกล้เคียงเกาะบริติสทั้งสอง(คือ เกาะอังกฤษ และเกาะไอร์แลนด์) ผู้โดยสารชั้นที่ 1 กำลังรับประทานอาหารกลางวันขณะเมื่อเรือถูกยิงด้วยตอร์ปิโด เสียงระเบิดดังเป็นเสียงโครมใหญ่กึกก้อง การแตกตื่นในหมู่ผู้โดยสารไม่ได้เกิดขึ้น มีหลายคนดูเหมือนจะเข้าใจว่าเรือจะไม่จบ

ทั้งผู้บังคับการเรือมิได้เห็นเรือดำน้ำที่ปล่อยตอร์ปิโด ตอร์ปิโดได้ทะลุเข้าไปที่ห้องใส่ไฟข้างหัวเรือ และเครื่องจักรหยุดทำงานหมด เพราะท่อไอใหญ่ได้หัก เรือกำลังเดินอยู่ 18 น็อด และเพราะเหตุที่เดินจักรให้ถอยหลังไม่ได้เสียแล้ว เรือจึงแล่นต่อไป(เมื่อเครื่องหยุดแล้วนั้น) อีก 10 นาที


ด้วยเหตุนี้ การหย่อนเรือกรรเชียงจึงกระทำโดยทันทีไม่ได้ อย่างไรก็ดี แคมขวาเรือใช้ไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะเรือเอียงมาก มีผู้บ่นอยู่บ้างว่าขาดวินัยและระเบียบในการหย่อนเรือเล็ก การตื่นตระหนกตกใจในหมู่ลูกเรือก็ไม่ปรากฏ มีแต่คำกล่าวว่าการหย่อนเรือที่คนลงแล้วนั้นทำได้ล่าช้า และว่าเรือกรรเชียงบางลำรั่วมากจนเล่ม อีกทั้งมีเรื่องเล่าถึงเรือแตกบ้าง และมีคนลงแน่นเกินไปบ้าง เรือและแพที่ออกพ้นเรือใหญ่ไม่ได้ มีจำนวนรวมกันประมาณ 10 หรือ 12 ลำ

7.ความทุกข์เวทนาและอนาถใจกับการจมของเรือลูสิเตเนีย


เรือลูสิเตเนีย
ตรงที่ถูกตอร์ปิโดลูกแรกของยอรมัน

เมื่อมีเหตุร้ายอันสำคัญยิ่งเกิดขึ้นเช่นนี้ ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องมีความทุกขเวทนาและความอเนจอนาถใจแสนสาหัส ทั้งในหมู่ผู้ที่ได้โดยสารไปในเรือ และในหมู่คนที่สูญเสียผู้เป็นที่รักใคร่ เช่น สามีสูญเสียภรรยา บิดามารดาสูญเสียบุตร และบุตรสูญเสียบิดามารดา เป็นต้น ความทุกข์เช่นนี้ ถ้ามีขึ้นเพราะเรือจมโดยเหตุที่เป็นอันตรายในทะเล ด้วยเหตุที่คาดไม่ถึง ก็ย่อมมีแต่เพียงความเสียใจที่ผู้ตายเคราะห์ร้ายต้องสูญเสียชีวิตด้วยเหตุแบบนั้น หรือบางทีก็มีคำติเตียนผู้เป็นนายเรือบ้าง เจ้าของเรือบ้าง ว่ามีความประมาทเลินเล่อและหละหลวมเป็นต้น แต่เมื่อเรือเป็นอันตรายเพราะถูกทำลายโดยจงใจอย่างเช่นที่เกิดกับเรือลูสิเตเนียนี้ ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่นอกจากความทุกข์ตามปกติแล้ว ก็ย่อมจะต้องมีความรู้สึกแค้นเคืองและเกลียดชังผู้ที่ทำร้ายด้วยเป็นอันมาก  การทำลายเรือลูสิเตเนียครั้งนี้ ยิ่งเพิ่มทวีความแค้นเคืองที่ชาวอังกฤษมีอยู่แล้วต่อเยอรมนีแต่เดิมนั้นมากขึ้นอีก

8.ความรู้สึกของประชาชนชาวอังกฤษส่วนใหญ่ต่อการจมของเรือลูสิเตเนีย


เรือลูสิเตเนีย กำลังจม
ในประเทศอังกฤษ  ประชาชนต่างพากันโกรธเคืองกันมาก ข่าวเรือลูสิเตเนียจมนั้นก็จำเพาะไปประสมกับข่าวซึ่งมาจากประเทศฮอนแลนด์ ที่แสดงถึงการกระทำที่รุนแรงต่างๆ ซึ่งกล่าวว่าทหารบาวาเรียได้กระทำต่อทหารอังกฤษเช่นปิดประตูห้องเอาไฟเผาเสียชีวิต 40 คน จับทหารแคนาดาไปตรึงไม้กางเขน และยิงทหารที่ยกมือยอมแพ้แล้วเป็นต้น  เมื่อผสมกันแล้วก็เกิดเป็นมติมหาชนของชาวอังกฤษทำการต่อต้านชาวเยอรมันและชาวออสเตรียในที่ทุกหนทุกแห่ง และรัฐบาลอังกฤษได้ออกประกาศห้ามบุคคลในราชอาณาจักรอังกฤษมิให้ทำการค้าขายกับบุคลสัญชาติศัตรู ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่หรือทำการค้าขายอยู่ในประเทศจีน สายาม เปอร์เซีย และโมร็อกโก  ในประเทศอังกฤษเองประชาชนได้ลุกฮือบุกเข้าทำลายทรัพย์สินของชนชาติศัตรูคือชาวออสเตรียและเยอรมันเป็นที่วุ่นวายทั่วทุกหนทุกแห่งในประเทศอังกฤษ

9.คำแก้ตัวของรัฐบาลเยอรมันกับการจมของเรือลูสิเตเนีย


ผู้โดยสารในเรือลูสิเตเนีย
เห็นพรายน้ำของตอร์ปิโด
ในขณะที่จวนจะถึงเรือ
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม บริษัท ไวร์เลสสเปรสส์ ได้ส่งข่าวไปยังหนังสือพิมพ์ ไทมส์ ส่งสำเนาโทรเลข ที่กระทรวงการต่างประเทศเยอรมันมีไปยังสถานทูตเยอรมันที่กรุงวอชิงตันดีซี มีข้อความว่า :

ข้อแจ้งให้แก่กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันดังต่อไปนี้
รัฐบาลเยอรมันปรารถนาจะแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ในการเสียชีวิตของชาวอเมริกันผู้โดยสารเรือลูสิเตเนีย  แต่ความรับผิดชอบตกอยู่กับรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มความคิดที่จะทำให้พลเมืองเยอรมันที่เป็นพลเรือนต้องอดอาหาร และทำให้เยอรมนีต้องคิดทำการตอบแทน

แม้เมื่อฝ่ายเยอรมนีได้รับรองแล้วว่า ถ้าฝ่ายอังกฤษเลิกความคิดทำให้คนอดอยากนั้นได้เสียแล้ว ฝ่ายเยอรมนีก็จะงดทำสงครามใต้น้ำแบบนี้แล้ว รัฐบาลอังกฤษก็กลับมาปิดกั้นสินค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีก เรือสินค้าอังกฤษโดยมากมักมีปืนประจำ และได้เคยพยายามชนเรือดำน้ำมาหลายครั้งแล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะให้ตรวจก่อนทำลายนั้นพ้นวิสัยที่จะทำได้ ดังนั้นเรือนั้นๆจะถือว่าเป็นเรือสินค้าสามัญหาได้ไม่ คำชี้แจงในรัฐสภาอังกฤษเมื่อเร็วนี้ ซึ่งปลัดกระทรวงได้กล่าวเป็นคำตอบคำถามของลอร์ด ชาร์ลส์ เบริส ฟอร์ด แสดงว่าในเวลานี้เรือสินค้าของอังกฤษแทบทุกลำมีอาวุธและมีลูกระเบิดขว้างด้วยมือ นอกจากนี้ได้มีคำสารภาพโดยเปิดเผยในหนังสือพิมพ์อังกฤษว่า ในเที่ยวก่อนๆเรือลูสิเตเนียได้เคยบรรทุกเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์เป็นอันมากหลายคราวแล้ว

ในเที่ยวหลังนี้ เรือลูสิเตเนียบรรทุกกกระสุนไป 5,400 หีบ ทั้งของอื่นๆที่บรรทุกนอกจากนี้ก็เป็นของต้องห้ามในการสงครามโดยมาก ถ้าเมื่อฝ่ายเยอรมันบอกกล่าวทั้งทางราชการและทางเอกชนแล้วเป็นหลายครั้งเช่นนี้แล้ว ฝ่ายอังกฤษก็น่าแสดงความรู้สึกว่าเรือนั้นจะต้องไม่เป็นอันตราย แต่กลับอาจหาญรับผิดชอบประกันชีวิตคนโดยสารเรือ ซึ่งอาศัยเหตุที่มีอาวุธประจำและบรรทุกของต้องห้าม จึงเป็นเรือที่อาจถูกทำลายได้ ฝ่ายรัฐบาลเยอรมัน ถึงแม้จะสงสารอย่างลึกซึ้งในการที่ชีวิตของชาวอเมริกันต้องมาสูญเสียไปเช่นนี้ แต่ก็ไม่วายความเสียใจที่ชาวอเมริกันรู้สึกพอใจที่จะไว้ใจในคำรับรองของอังกฤษมากกว่าที่จะฟังคำบอกกล่าวจากข้างฝ่ายเยอรมัน (ลงนาม) กระทรวงการต่างประเทศ

10. ความเห็นในแง่กฎหมายระหว่างประเทศต่อกรณีการจมของเรือลูสิเตเนีย


กัปตัน ดับเบิลยู. ที.ตอร์เนอร์
ผู้บังคับการเรือลูสิเตเนีย

หลักกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ดังนี้

1.เรือรบลำใดไปพบเรือสินค้า ซึ่งสงสัยว่าเป็นเรือที่ควรจับหรือทำลาย คือมีอาวุธประจำเรือ หรือทำการรับใช้ไม่เป็นกลาง หรือมีของต้องห้ามบรรทุก หรือขัดขืนการปิดล้อม เป็นหน้าที่ของเรือรบลำนั้นที่จะต้องให้สัญญาณสั่งให้เรือนั้นหยุดแล้วส่งนายทหารขึ้นไปตรวจดูให้รู้ชัด ว่าเรือนั้นมีความผิดตามที่สงสัยหรือไม่ ถ้าได้ความว่าเรือนั้นมีความผิดจริงแล้ว เรือรบก็มีหนทางที่จะปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในสองทาง กล่าวคือ
(ก) จับเรือสินค้าลำนั้นคุมไปเมืองของตน เพื่อส่งศาลพิจารณาเรือเชลย
(ข) ถ้าจะนำเรือนั้นไปไม่ได้โดยสะดวก  เช่นถ้านำไปจะเป็นอันตรายแก่เรือรบนั้นเองเป็นต้น ก็ให้ผู้บังคับการเรือรบสั่งคนโดยสารให้ลงเสียจากเรือที่มีความผิดนั้นเสียก่อนแล้วจึงทำลาย
ข้างต้นคือความถูกต้องตามกฎและธรรมเนียมการสงครามทางเรือ

2.การชักธง เรือสินค้าจะชักธงอะไรก็ได้ทั้งสิ้น ไม่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใด ถ้าเรือรบสงสัยว่าเรือสินค้าลำใดชักธงปลอม ก็ควรจะสั่งเรือนั้นหยุดและตรวจค้น อย่างเช่นที่กล่าวแล้วบ้างบนนั้น

3.ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าเรือสินค้าลำใดกระทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งในเที่ยวใด เมื่อเดินเรือสิ้นเที่ยวนั้นไปแล้วก็เป็นอันหมดความผิด จะยกเอาความผิดเก่ามาอ้างเพื่อลงโทษในเที่ยวใหม่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นตามกฎหมายระหว่างประเทศ การที่เรือลูสิเตเนียชักธงอเมริกันในเที่ยวหนึ่งแล้ว จะอ้างเอาเป็นเหตุที่ควรลงโทษในเที่ยวหลังไม่ได้ แท้จริงตามกฎหมายระหว่างประเทศ เรือลูสิเตเนียเป็นเรือของอังกฤษ เพราะฉะนั้นเยอรมนีมีอำนาจตามกฎหมายที่จะจับหรือทำลายได้อยู่แล้ว หาจำเป็นที่จะยกเอาเรื่องชักธงอเมริกันอันเป็นเรื่องล่วงไปแล้วมายกเป็นเหตุอีกไม่ การยกเหตุมากล่าวทำให้ดูเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งไม่สมควรแก่เกียรติยศทหารเรือและชาติเยอรมันเลย ทั้งทำให้คดีฝ่ายตนอ่อนไปด้วย

4.ความจำเป็นที่จะทำลายเรือลูสิเตเนียลงไป โดยไม่บอกกล่าวและไม่ให้โอกาสให้คนโดยสารลงเสียจากเรือก่อนนั้น  ถ้าจะว่ากันตามทางกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า ความจำเป็นอันใดไม่ได้มีเลยที่จะลบล้างตัวบทกฎหมาย ซึ่งเป็นคำมั่นสัญญาในระหว่างนานาประเทศทั่วไป

5.ข้อที่ว่าได้บอกกล่าวแล้วตั้งแต่ก่อนเรือลูสิเตเนียออกจากนิวยอร์ก คือได้ลงแจ้งความในหนังสือพิมพ์บอกกล่าวว่าเรือนั้นอาจจะถูกทำลายได้นั้น ไม่มีข้อควรพิจารณาทางกฎหมายระหว่างประเทศ  เพราะกฎหมายระหว่างประเทศกล่าวชัดว่า เป็นหน้าที่ของผู้บังคับการเรือรบที่จะบอกกล่าวแก่เรือที่จะจับหรือทำลายนั้นเองโดยตรง และโดยจำเพาะ

บทความที่ได้รับความนิยม