กัปตัน ดับเบิลยู. ที.ตอร์เนอร์
ผู้บังคับการเรือลูสิเตเนีย
หลักกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ดังนี้
1.เรือรบลำใดไปพบเรือสินค้า ซึ่งสงสัยว่าเป็นเรือที่ควรจับหรือทำลาย คือมีอาวุธประจำเรือ หรือทำการรับใช้ไม่เป็นกลาง หรือมีของต้องห้ามบรรทุก หรือขัดขืนการปิดล้อม เป็นหน้าที่ของเรือรบลำนั้นที่จะต้องให้สัญญาณสั่งให้เรือนั้นหยุดแล้วส่งนายทหารขึ้นไปตรวจดูให้รู้ชัด ว่าเรือนั้นมีความผิดตามที่สงสัยหรือไม่ ถ้าได้ความว่าเรือนั้นมีความผิดจริงแล้ว เรือรบก็มีหนทางที่จะปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในสองทาง กล่าวคือ
(ก) จับเรือสินค้าลำนั้นคุมไปเมืองของตน เพื่อส่งศาลพิจารณาเรือเชลย
(ข) ถ้าจะนำเรือนั้นไปไม่ได้โดยสะดวก เช่นถ้านำไปจะเป็นอันตรายแก่เรือรบนั้นเองเป็นต้น ก็ให้ผู้บังคับการเรือรบสั่งคนโดยสารให้ลงเสียจากเรือที่มีความผิดนั้นเสียก่อนแล้วจึงทำลาย
ข้างต้นคือความถูกต้องตามกฎและธรรมเนียมการสงครามทางเรือ
2.การชักธง เรือสินค้าจะชักธงอะไรก็ได้ทั้งสิ้น ไม่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใด ถ้าเรือรบสงสัยว่าเรือสินค้าลำใดชักธงปลอม ก็ควรจะสั่งเรือนั้นหยุดและตรวจค้น อย่างเช่นที่กล่าวแล้วบ้างบนนั้น
3.ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าเรือสินค้าลำใดกระทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งในเที่ยวใด เมื่อเดินเรือสิ้นเที่ยวนั้นไปแล้วก็เป็นอันหมดความผิด จะยกเอาความผิดเก่ามาอ้างเพื่อลงโทษในเที่ยวใหม่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นตามกฎหมายระหว่างประเทศ การที่เรือลูสิเตเนียชักธงอเมริกันในเที่ยวหนึ่งแล้ว จะอ้างเอาเป็นเหตุที่ควรลงโทษในเที่ยวหลังไม่ได้ แท้จริงตามกฎหมายระหว่างประเทศ เรือลูสิเตเนียเป็นเรือของอังกฤษ เพราะฉะนั้นเยอรมนีมีอำนาจตามกฎหมายที่จะจับหรือทำลายได้อยู่แล้ว หาจำเป็นที่จะยกเอาเรื่องชักธงอเมริกันอันเป็นเรื่องล่วงไปแล้วมายกเป็นเหตุอีกไม่ การยกเหตุมากล่าวทำให้ดูเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งไม่สมควรแก่เกียรติยศทหารเรือและชาติเยอรมันเลย ทั้งทำให้คดีฝ่ายตนอ่อนไปด้วย
4.ความจำเป็นที่จะทำลายเรือลูสิเตเนียลงไป โดยไม่บอกกล่าวและไม่ให้โอกาสให้คนโดยสารลงเสียจากเรือก่อนนั้น ถ้าจะว่ากันตามทางกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า ความจำเป็นอันใดไม่ได้มีเลยที่จะลบล้างตัวบทกฎหมาย ซึ่งเป็นคำมั่นสัญญาในระหว่างนานาประเทศทั่วไป
5.ข้อที่ว่าได้บอกกล่าวแล้วตั้งแต่ก่อนเรือลูสิเตเนียออกจากนิวยอร์ก คือได้ลงแจ้งความในหนังสือพิมพ์บอกกล่าวว่าเรือนั้นอาจจะถูกทำลายได้นั้น ไม่มีข้อควรพิจารณาทางกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะกฎหมายระหว่างประเทศกล่าวชัดว่า เป็นหน้าที่ของผู้บังคับการเรือรบที่จะบอกกล่าวแก่เรือที่จะจับหรือทำลายนั้นเองโดยตรง และโดยจำเพาะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น